Tuesday, July 2, 2024

17 เคล็ดลับสร้างแผนธุรกิจให้ปัง

 09 ก.พ. 2566 20:37 น.    เข้าชม 650    Entrepreneurship
17 เคล็ดลับสร้างแผนธุรกิจให้ปัง

หากคุณเป็นคนที่ใฝ่ฝันอยากจะเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง จำเป็นอย่างยิ่งที่ ขั้นแรกคุณจะต้องร่างฝันของคุณลงบนกระดาษให้ชัดเจนเสียก่อน เรียกว่าจะรวยหรือจะเจ๊งก็ให้รู้กันบนกระดาษเสียก่อน นั่นก็คือการนำรายละเอียดไอเดียธุรกิจของคุณมาสร้างสรรค์เป็นแผนธุรกิจขึ้นมา ไม่ต้องซับซ้อนยุ่งยาก แต่จำเป็นต้องคิดให้รอบด้าน เพราะนอกจากเป็นการกำหนดทิศทางสำหรับธุรกิจของคุณ คุณยังสามารถใช้แผนธุรกิจนี้ในการระดมทุนจากนักลงทุนได้อีกด้วย 

 

แผนธุรกิจที่เขียนขึ้นเป็นอย่างดีจะช่วยให้คุณประเมินด้านการเงิน ช่วยให้คุณมองเห็นพันธมิตรทางธุรกิจ  ปูพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจทางธุรกิจ และช่วยให้คุณสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้  และต่อไปนี้คือ 17 เคล็ดลับที่จะช่วยคุณในการเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจ 

 

กระชับเข้าไว้ 

โดยทั่วไป แผนธุรกิจที่เหมาะสม เราควรจะสามารถอ่านคร่าวๆ และสามารถเก็ทไอเดียหลักของเนื้อหาได้ได้ภายใน 15 นาทีหรือน้อยกว่านั้น นอกจากนี้ใช้การจัดหน้ากระดาษที่เหมาะสม ทั้งรูปแบบ หัวข้อ ภาพประกอบ และพื้นที่ว่าง ให้สมดุลกัน โดยขนาดมาตรฐานของแผนธุรกิจสำหรับสตาร์ตอัพ ประมาณ 20-40 หน้ากระดาษ 

 

รู้ว่าจะนำเสนอแผนนั้นกับใคร

ถ้าเป็นไปได้จะดีมาก ถ้าจะมีแผนธุรกิจหลายๆ เวอร์ชั่น โดยปรับให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เช่น  เวอร์ชั่นสำหรับธนาคารหรือนักลงทุน เวอร์ชั่นสำหรับนักลงทุนอิสระ และเวอร์ชั่นสำหรับบริษัทร่วมทุน วิธีการนี้จะทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จในการระดมทุนมากกว่า 

 

รู้เขารู้เรา รู้จักคู่แข่ง  

มันสำคัญมากที่ต้องรู้ว่าคู่แข่งทางธุรกิจของเราคือใคร ที่สำคัญต้องรู้คือ อะไรทำให้เราแตกต่างจากพวกเขา และทำให้เรามั่นใจได้ว่า ธุรกิจของเราเหนือกว่า เพราะในหลายๆ อุตสาหกรรมมีอัตราการแข่งขันกันสูง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องสร้างแผนธุรกิจที่ความแตกต่าง

  

ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว 

เพื่อทำให้แผนธุรกิจของเราไม่ได้เป็นเพียงแค่ลมปาก หรือคำสัญญาลมๆ แล้งๆ ข้อมูลทางธุรกิจที่นำเสนอควรมีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอ และต้องนำเสนอได้อย่างมั่นใจว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร  

เช่น ทีมงานของคุณประกอบไปด้วยหัวกะทิในธุรกิจด้านนี้ พวกเขามีคุณวุฒิเป็นอย่างไร? ทำไมจึงเชื่อมั่นว่าธุรกิจของเราจะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมภายใน 1 ปี? ในทุกคำกล่าวอ้างที่เขียนลงในแผน จะต้องมั่นใจว่ามีเหตุผลที่เป็นรูปธรรมอยู่เบื้องหลังคำกล่าวอ้างนั้นเสมอ 

 

จงรอบคอบกับประมาณการการเงินของคุณ

เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจของคุณจะเติบโต ตัวนักลงทุนเองก็ย่อมต้องการให้แน่ใจว่าพวกเขากำลังลงทุนกับธุรกิจที่ดี  การทำธุรกิจมีปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมหรือไม่คาดคิด บางครั้งค่าใช้จ่ายอาจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น อย่าประเมินผลตอบแทนสูงจนเกินไป แต่ในทางกลับกันถ้าได้มากกว่าที่สัญญาไว้จะดีกว่าแน่ๆ  

 

เผื่อเวลาให้กับความเป็นจริงเสมอ 

การประเมินระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจตามความเป็นจริง จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแผนธุรกิจของคุณ ผู้ประกอบการหลายคนมองโลกในแง่ดีมากเกินไปเมื่อต้องวางแผนงานและเวลาที่ใช้ในการทำงาน โดยทั่วไปจะให้ดีเราต้องรู้จักเผื่อเวลาไว้ด้วย การวางแผนในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้บรรลุผล มักใช้เวลานานกว่าที่คุณคาดไว้ 15% เพราะในความเป็นจริง เมื่อคุณเป็นคนสั่งของ รับโทรศัพท์ และจ่ายบิล เวลาก็หมดไปอย่างง่ายดายและรวดเร็ว จงเปรียบการทำธุรกิจเป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งแข่งม้วนเดียวจบ 

 

จงสร้างทีมจัดการที่แข็งแกร่ง 

หาคนเก่งมาแวดล้อมคุณ และสำคัญมากที่จะต้องจ้างคนที่เก่งคนละอย่างกับคุณ เพราะคุณต้องการคนมาสนับสนุนคุณ ไม่ใช่มาเลียนแบบหรือคอยฟังแต่คำสั่งคุณเพียงอย่างเดียว ให้แน่ใจว่าคนที่คุณจะจ้างมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยเฉพาะเวลาที่คุณเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจใหม่และต้องการคำแนะนำ ถ้าคุณสามารถจ้างคนที่มีประสบการณ์ในธุรกิจนั้นๆ จงทำ เพราะทีมงานที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะทำให้แผนธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จได้จริง

 

พิสูจน์ได้ว่า ไอเดียของคุณจะเวิร์ก

ในการเขียนแผนธุรกิจของคุณ คุณจำเป็นต้องทดสอบความคิดของคุณก่อนว่า เป็นวิธีที่ตอบโจทย์ปัญหาทั่วไปหรือไม่? ถ้าเป็นเช่นนั้นทำไมคุณถึงคิดว่ามันจะได้ผล โดยแผนของคุณจะต้องนำตัวแปรหรือปัจจัยต่างๆ ทั้งหมดที่เป็นไปได้ว่าจะมีผลกระทบต่อเป้าหมายของคุณ อธิบายว่าคุณจะเอาชนะปัจจัยต่างๆที่เป็นอุปสรรคได้อย่างไร และทำไมแนวคิดของคุณถึงประสบความสำเร็จ ในขณะที่คนอื่นไม่สามารถทำได้”

 

นำเสนอตัวเลือกผลตอบแทนที่หลากหลายสำหรับนักลงทุน

นักลงทุนแต่ละคนก็มีความต้องการแตกต่างกัน บางคนต้องการลงมือปฏิบัติจริง ในขณะที่บางคนไม่ต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรม  แต่สิ่งที่เหมือนกันคือพวกเขาต้องการทราบว่าจะได้รับผลตอบแทนอย่างไรและเมื่อใด ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีตัวเลือกที่น่าพอใจสำหรับนักลงทุนทุกคน เพื่อให้พวกเขารู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ และมันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับพวกเขาหรือไม่

 

ทดสอบแนวคิดทางธุรกิจของคุณ

ก่อนที่จะนั่งลงเขียนแผนธุรกิจของคุณ ลองทดสอบกับผู้คนก่อน พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้า และผู้ประกอบการรายอื่นๆ พูดคุยขอความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา เพื่อวัดความสามารถในการอยู่รอดของธุรกิจ เพราะก่อนที่จะสร้างแผนของคุณ คุณควรรู้ว่าคุณจะต้องเจอกับอะไรบ้าง  จากนั้นนำคำแนะนำหรือคำวิพาษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์มาใช้เมื่อลงมือเขียนแผนของคุณ”

 

กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์

เมื่อเขียนแผนธุรกิจ สิ่งสำคัญคือต้องระบุเป้าหมายและวิธีที่คุณจะวัดผลเป้าหมายเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเชิงปริมาณ ด้านรายรับ เป้าหมายของบริษัท ไปจนถึงเป้าหมายการขายรายบุคคล

เมื่อกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์เรียบร้อยแล้ว จงกำหนดกรอบระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น ถ้าเป็นเป้าหมายรายปี ก็ให้แยกย่อยออกเป็นเป้าหมายรายเดือนเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและการปฏิบัติของทีมงาน

 

อย่ากลัวไปเลย

การเขียนแผนธุรกิจอาจเป็นเรื่องที่น่าหวาดหวั่น แต่ไม่จำเป็นต้องหวั่นกลัวขนาดนั้น จำไว้ว่าคุณคือผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจของคุณ คุณรู้จักความคิดของคุณดีกว่าใคร จงลงมือเขียนแผนอย่างมั่นใจ อาจจะเริ่มด้วยเอกสารหน้าเดียวง่ายๆ จากจุดนั้น คุณสามารถเจาะประเด็นจนกว่าจะครอบคลุมมากขึ้น

ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจ พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตหรือบัญชี พวกเขามีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้ตลอดเวลา อย่าปล่อยให้การขาดความรู้หรือประสบการณ์ของคุณหยุดคุณจากการไล่ตามความฝัน

 

ใช้ภาพประกอบเพื่อช่วยให้แผนธุรกิจมีชีวิตชีวาขึ้น

ภาพประกอบข้อมูลประเภทต่างๆ เช่น กราฟ ชาร์ต ไดอะแกรม และรูปภาพมีประโยชน์มากและช่วยให้ข้อเขียนของคุณมีชีวิตชีวา และดึงดูดใจให้น่าอ่าน รวมถึงน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ไม่มีใครอยากจะนั่งอ่านข้อเขียน ที่มีตัวหนังสือเต็มพืด 30 กว่าหน้า  

 

ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

เมื่อแผนธุรกิจของคุณถูกเขียนขึ้นแล้ว ไม่ได้กลายเป็นข้อกำหนดตายตัว เราสามารถที่จะทำการปรับเปลี่ยน เมื่อดำเนินธุรกิจไป ธุรกิจย่อมเติบโตขึ้น ตัวคุณก็ได้เรียนรู้มากขึ้นในฐานะผู้ประกอบการ แผนธุรกิจของคุณก็เช่นกัน สิ่งสำคัญคือต้องอัปเดตอย่างน้อยปีละครั้ง 

แต่คุณต้องหมั่นตรวจสอบและประเมินบ่อยๆ ว่าสถานการณ์ในอุตสาหกรรมของคุณเปลี่ยนไปหรือไม่?  พบเจอกับอุปสรรคที่คาดไม่ถึงหรือไม่? การเงินของคุณสอดคล้องเป็นไปตามที่คุณคาดการณ์ไว้หรือไม่? สุดท้ายคืออย่ายึดมั่นถือมั่นกับแผนธุรกิจที่เขียนไว้มากจนเกินไปนัก ไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตได้ ควรปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของคุณให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ หรือเปลี่ยนแปลงไป 

 

ใช้ทรัพยากรของคุณเองในการเริ่มต้นธุรกิจ

การใช้ทรัพยากรของคุณเองเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ คุณไม่จำเป็นต้องโน้มน้าวใจนักลงทุนเกี่ยวกับข้อดีของแนวคิดของคุณ คุณแค่ต้องโน้มน้าวใจตัวเอง 

 

อดทนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อใดก็ตามที่ได้พบกับ CEO ที่ประสบความสำเร็จ และถามพวกเขาว่า พวกเขาทำได้อย่างไร ซีอีโอระดับปานกลางชี้ให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยมของพวกเขา หรือความรู้สึกทางธุรกิจที่เป็นธรรมชาติของพวกเขา หรือคำอธิบายอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ซีอีโอที่ยิ่งใหญ่มักจะตอบเหมือนๆ กันคือ พวกเขาไม่เคยถอดใจหรือล้มเลิก  

 

บทสรุปผู้บริหาร

บทสรุปผู้บริหาร มักเป็นส่วนที่ถูกเขียนขึ้นเป็นส่วนหลังสุด แต่เป็นส่วนสำคัญที่สุดของแผนธุรกิจ เป็นการสรุปจุดสำคัญๆ ของแผนธุรกิจให้อยู่ภายใน 1 หน้า อธิบายภาพรวมของธุรกิจ ซึ่งสามารถอ่านทำความเข้าใจได้เร็วๆ ก่อนที่จะดำดิ่งสู่รายละเอียดเนื้อหาของแผนธุรกิจ 

และยังเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้คุณสามารถสรุปแผนธุรกิจของคุณให้กับนักลงทุนที่มีศักยภาพมั่นใจได้ว่า แนวคิดและเป้าหมายของคุณคืออะไร อะไรที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณแตกต่างจากคู่แข่ง และกลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร นอกจากนี้ คุณควรสามารถระบุกลยุทธ์ทางการตลาด สถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบันและที่คาดการณ์ไว้ จำนวนเงินที่คุณต้องการ และศักยภาพของทีมงานของคุณ 

 

ที่มา : https://www.influencive.com/tips-for-creating-a-solid-business-plan/

 


Comment