ยุคนี้ใครๆ ก็คงคุ้นหูกับคำว่า "Start Up" แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงเพิ่งมีคำว่า สตาร์ตอัพ เกิดขึ้นในบ้านเรา แล้วจริงๆ มันหมายถึงอะไร มีความแตกต่างจากธุรกิจที่เรารู้จักกันอย่าง "SME" หรือไม่?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่า สตาร์ตอัพก่อน นิยามของ พอล เกรแฮม บอกไว้ว่า สตาร์ตอัพ เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง เป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นการเติบโตขึ้นหลายพันเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับที่เราเห็นใน Facebook และ Twitter ในช่วงแรกๆ หลังจากนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่จุดนิ่งและอิ่มตัว
สตาร์ตอัพในบ้านเราส่วนมากก็จะมีการเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ แต่ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเรื่องของวงการเทคโนโลยีอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังมีสตาร์ตอัพในหลากหลายวงการไม่ว่าจะเป็นสตาร์ตอัพ ในวงการศึกษา หรือว่าสตาร์ตอัพเกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์อาหารก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีเรื่องของการเอาเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นเอง
"SME" VS "Start Up"
หลายคนอาจจะสงสัย ว่า SME กับสตาร์ตอัพมีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะว่าดูทั้ง 2 อัน ก็จะมีความคล้ายคลึงกัน
"SME" คือเป็นธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อมคล้ายกัน ความแตกต่างอยู่ที่ตัว SME จะมีการเติบโตแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป และจะครบจบในทีเดียว ก็คือหมายความว่า ถ้าเกิดว่าคุณมีไอเดียดี คุณมีเงินทุนพอก็สามารถเอาไปทำเป็น SME ได้ แต่ถ้ามีไม่พอก็ต้องมีหลักทรัพย์ในการไปขอธนาคารกู้ยืมมาก็จะทำ SME ได้เช่นกัน
ต่างกับ "Start Up" ที่คุณมีแค่ไอเดียดีอย่างเดียว แล้วก็ไปเร่ขายฝันให้กับคนที่เขาสนใจ หรือว่าเป็นนักลงทุนที่มีเงินอยู่แล้ว ถ้านักลงทุนเหล่านั้น เห็นว่าโปรเจคของคุณหรือว่าไอเดียของคุณดีพอและสามารถทำให้เกิดได้จริง เขาก็จะจ่ายเงินมาร่วมลงทุน ในการพัฒนาโปรเจคและต้องทำให้มันเกิดขึ้นจริง
อีกหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นคือ นักลงทุนจะได้อะไร คนที่เราไปเล่นขายฝันให้เขา เขาให้เงินเรามา แล้วเขาล่ะจะได้อะไร ปกติก็แล้วแต่การตกลง แต่ส่วนมากคนที่เขาให้เงินทุนเราก็คือเขาเห็นว่าบริษัทของเรามีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จสูง ดังนั้นเขาก็จะขอเข้ามาเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทของเรา อาจจะมีหุ้น 20 หรือว่า 30% แล้วแต่ที่จะตกลง การเข้าไปถือหุ้นแบบนี้ ก็จะทำให้ทั้งผู้ที่ให้เงินทุน รวมถึงตัวสตาร์ตอัพเอง สามารถเติบโตไปได้พร้อมๆกัน
บางคนอาจสงสัยว่าแล้วถ้าสตาร์ตอัพไม่ประสบความสำเร็จ นักลงทุนก็ขาดทุนน่ะสิ แต่ว่าการที่นักลงทุนเหล่านี้เขาไปเลือกลงทุน ต้องบอกก่อนว่า เขามีความรู้เรื่องของการลงทุนและการวิเคราะห์ตลาดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จค่อนข้างจะสูง ประกอบกับการเลือกลงทุน ไม่ใช่จะลงแค่กับสตาร์ตอัพเจ้าเดียว แต่ว่ามีการเลือกลงทุนในสตาร์ตอัพหลายเจ้าพร้อมกัน
ดังนั้น ถึงแม้เจ้าหนึ่งจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เขาก็จะได้กำไรจากเจ้าที่ประสบความสำเร็จไปแทน เพราะอัตราการเติบโตของสตาร์ตอัพนั้นเป็นไปอย่างก้าวกระโดดหลายพันเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น ถ้ามีหนึ่งเจ้าที่เค้าเลือกสนับสนุนนั้นประสบความสำเร็จ ก็จะสามารถเอาส่วนต่างตรงนี้ต้องหักลบกับเจ้าที่ขาดทุนได้นั่นเอง
ใครมีไอเดียดีๆ อยากเป็น สตาร์ตอัพกับเขาบ้าง แต่ว่าไม่รู้จะเริ่มยังไง ในบ้านเราปัจจุบันนี้ก็มีหลายโครงการที่สนับสนุนสตาร์ตอัพให้ได้มีที่ยืน โครงการต่างๆเหล่านี้ ยังมีการเข้าคอร์สอบรม ทำให้เราได้มองเห็นชัดเจนขึ้นว่าไอเดียของเรามีข้อดีข้อเสียตรงไหนต้องปรับแก้อะไรอีกบ้าง ซึ่งจะเป็นแนวทางให้เราปรับใช้กับธุรกิจได้ในอนาคต
ที่มา: ข้อมูลจากดรอยด์แซน
Comment